วช. นำ Test Kits สำหรับการวิเคราะห์น้ำ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมควบคุมดูแลคุณภาพน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

วช. นำ Test Kits สำหรับการวิเคราะห์น้ำ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมควบคุมดูแลคุณภาพน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ



















วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์กลางด้านความรู้ด้านเทคโนโลยีการวิเคราะห์อาหาร สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรชีวภาพ (Hub of Knowledge in Technology of Analysis for Food, Environment and Bioresources) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การใช้ Test Kits สำหรับการวิเคราะห์น้ำ" โดย รศ.ดร.เอกสิทธิ์ สมสุข จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับและแนะนำ Hub of Knowledge in Technology of Analysis for Food, Environment and Bioresources และ รศ. ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายการพัฒนาชุดทดสอบภาคสนามสำหรับการวิเคราะห์น้ำ ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ณ MR201 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

รศ.ดร.เอกสิทธิ์ สมสุข และ รศ. ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประสบการณ์การพัฒนาชุดทดสอบสารภาคสนาม ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน คณะวิจัยของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศ.ดร.ยุวดี เชี่ยววัฒนา ได้เริ่มพัฒนางานด้านชุดทดสอบสารหนูภาคสนาม โดยเป็นชุดทดสอบที่มีประสิทธิภาพทั้งเชิงความไวในการวิเคราะห์ และความสะดวกรวดเร็วเชื่อถือได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูนิเซฟ โดยในขณะนั้นได้มีการรณรงค์ลดปัญหาสุขภาพอนามัยอันเกิดจากสารหนูในหลายภูมิภาคของโลก สารหนูปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำที่คาดว่ามีถึงหลายล้านแหล่ง และมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 10 ล้านคน
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มวิจัยมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาชุดทดสอบภาคสนามอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมควบคุมมลพิษ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากในปัจจุบันการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณชุมชนของตนเอง และบริเวณใกล้เคียง โดยให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงคุณภาพของสภาพแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ธารน้ำ ในเขตพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งประชาชนสามารถดำเนินการประเมินคุณภาพสภาพแวดล้อมนั้นได้ด้วยตนเองด้วยเครื่องมือที่ง่าย ทำให้การดำเนินงานในการป้องกัน รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหามลพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทันเหตุการณ์
จากนั้นได้มีการสาธิตการใช้ชุดทดสอบภาคสนามเพื่อการวิเคราะห์ค่าออกซิเจนละลาย ไนไตรท์ ไนเตรท ฟอสเฟต และซัลไฟด์ โดย นางสาวกมลรัตน์ เลียบศิริ นางสาวกนกวรรณ ดอกพรม นางสาวหทัยชนก กรณโสภณพันธ์ และนายอิทธิกร เพิ่มพูล จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ วช. ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมงาน “อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” สัมผัสประสบการณ์สุดล้ำ พบกับนวัตกรรมล้ำสมัย ผลงานวิจัยสุดล้ำ และกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
Print