วช. นำงานวิจัย SDGs ของ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอในงานการประชุมสภาวิจัยโลก (Global Research Council: GRC) 2024

วช. นำงานวิจัย SDGs ของ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอในงานการประชุมสภาวิจัยโลก (Global Research Council: GRC) 2024

การประชุมสภาวิจัยโลก Global Research Council:GRC 2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 – 30 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองอินเทอร์ลาเคน สมาพันธรัฐสวิส จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “การวิจัยที่ยั่งยืน (Sustainable Research)” และได้จัดให้มีการนำเสนอ Poster Session ของหน่วยงานให้ทุนวิจัยในแต่ละภูมิภาคต่างๆ  โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อ “Research Programme for Researching and Supporting Cross-sectoral SDG Implementation System to Accelerate the Achievement of the 2030 Agenda” ซึ่งเป็นโครงการที่ วช.ให้ทุนสนับสนุนแก่ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการศึกษาช่องว่างของการบรรลุเป้าหมาย SDGs และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย โดย นางสาวขวัญศิริ ชนยุทธ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เป็นผู้นำเสนองานดังกล่าว

 

การประชุมสภาวิจัยโลก Global Research Council : GRC 2024 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 12 ได้มีการรับรอง Statement of Principles (SoP) โดยหน่วยงานให้ทุนซึ่งเป็นสมาชิกจากนานาประเทศ ได้ร่วมกันรับรอง ”Statement of Principles on Sustainable Research“ ซึ่งเป็นหลักการและแนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานให้ทุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยที่ยั่งยืนและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ แนวทางดังกล่าวประกอบด้วย 3 หลักการหลัก ได้แก่

1) การส่งเสริมการวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

2) การทำให้กระบวนการวิจัยเองมีความยั่งยืน และ

3) การให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ด้านความยั่งยืน

 

ภายใต้หลักการและแนวปฏิบัตินี้ หน่วยงานสมาชิก GRC จะร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่งเสริมการวิจัยข้ามสาขาและสหวิทยาการ สนับสนุนกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม รวมถึงส่งเสริมแนวปฏิบัติที่รับผิดชอบ เช่น การส่งเสริมหลัก Open Science การประเมินผลงานวิจัยแบบยั่งยืน และการสร้างความมั่นคงในอาชีพนักวิจัย เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางดังกล่าวยังเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจเชิงระบบ การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันให้วิทยาศาสตร์ด้านความยั่งยืนมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาของโลก โดย Statement of Principles on Sustainable Research นี้จะเป็นกรอบแนวทางสำคัญสำหรับหน่วยงานให้ทุนวิจัยทั่วโลกในการขับเคลื่อนการวิจัยให้มีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาสำคัญด้านความยั่งยืนของโลกได้อย่างแท้จริง


GRC 2024 มี Swiss National Science Foundation (SNSF) สมาพันธรัฐสวิส เป็นเจ้าภาพหลัก และ Fonds pour la Science, la Technologie et l'Innovation (FONSTI) สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Côte d'Ivoire) เป็นเจ้าภาพร่วม

 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้มีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยสนับสนุนทุนการวิจัยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ประมาณ 300 คน จาก 61 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภูมิภาคอเมริกา ภูมิภาคยุโรป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแอฟริกาเหนือ และภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) เข้าร่วมการประชุมฯ และการประชุมประจำปี GRC ในครั้งต่อไป (ครั้งที่ 13) นั้น จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ณ เมืองรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

Print