สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 พร้อมด้วย คณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ แผนงานความปลอดภัยทางถนนของ วช. ประกอบด้วย รศ.ดร.ศรัณย์ วรรธนัจฉริยา และนายธงชัย พงษ์วิชัย ร่วมประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการศึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่อค้นหารูปแบบการบริหารจัดการความปลอดภัยในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น
ในการประชุมสรุปผลการศึกษาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดและชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุม กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงผู้ใช้รถจักรยานยนต์บนท้องถนนในกรุงเทพมหานครมากที่สุด คือ วินจักรยานยนต์และไรเดอร์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบขนส่งและบริการของเมือง การแก้ปัญหาสิ่งสำคัญคือการนำข้อมูลอุบัติเหตุที่ได้มาใช้ให้เกิด Feedback Loop เพื่อพัฒนามาตรการและแนวทางที่เหมาะสม โดยหัวใจสำคัญในการดำเนินการ คือ เมืองจะทำอย่างไรให้สามารถดูแลไรเดอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านความปลอดภัยบนท้องถนน สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดียิ่งขึ้น” โดยผลการวิจัยที่ได้จากโครงการนี้จะถูกนำไปพิจารณาในการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านไรเดอร์ เพื่อผลักดันมาตรการเชิงนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของไรเดอร์ในกรุงเทพมหานครต่อไป
นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวถึง บทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย วช. ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยนี้เนื่องจากเล็งเห็นว่า อาชีพไรเดอร์ เป็นอาชีพที่ต้องทำงานบนท้องถนนทุกวัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง การศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางและรูปแบบการบริหารจัดการความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ วช. ยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการลดอุบัติเหตุและส่งเสริมพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติและสร้างระบบความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทุกมิติต่อไป
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอแผนการจัดทำนโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนจากบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหารชั้นนำ ได้แก่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มไรเดอร์ได้สะท้อนความคิดเห็นและรับนโยบายไปขับเคลื่อนต่อไป
การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ในเขตกรุงเทพมหานคร