วช. ร่วมจัดนิทรรศการในงานสัมมนา “รัฐสภาไทย...สานพลัง เพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2” ผลักดันงานวิจัยเสริมแนวทางการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาในด้านความปลอดภัยทางถนน

วช. ร่วมจัดนิทรรศการในงานสัมมนา “รัฐสภาไทย...สานพลัง เพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2” ผลักดันงานวิจัยเสริมแนวทางการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาในด้านความปลอดภัยทางถนน












สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 ร่วมงานสัมมนา “รัฐสภาไทย...สานพลัง เพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ณ อาคารรัฐสภา

ในงานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ทิศทางและเข็มมุ่งในการขับเคลื่อนภารกิจงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวรายงาน โดยมีคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุ และอนุกรรมการทุกคณะ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมรับฟัง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรฯ คนที่ 1 ได้กล่าวเปิดงานและปาฐกถาในหัวข้อ "ทิศทางและเข็มมุ่งในการขับเคลื่อนภารกิจงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน" กล่าวว่าประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565-2570) ซึ่งในปี 2566 มีเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือ 12 คนต่อแสนประชากร หรือประมาณ 8,474 รายในปี 2570 แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่หากประเทศไทยต้องการบรรลุผลสำเร็จตามแผนนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในการจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังผ่านการสนับสนุนงานวิจัย การกำหนดนโยบายที่มีเป้าหมายชัดเจนในทุกระยะโดยเฉพาะภาคนิติบัญญัติซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการออกกฎหมาย อนุมัติงบประมาณ เสนอนโยบาย และกำกับติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงกฎหมายให้มีความครอบคลุมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมเสนอให้มีการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานและจัดระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสมาชิกรัฐสภาและประชาชน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
และเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยมุ่งบูรณาการความร่วมมืออย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดผลสำเร็จต่อไป
ทั้งนี้ วช. ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการภายใต้คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนภาคีพร้อมด้วยภาคีเครือข่ายการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมควบคุมโรค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายผลักดันให้งานวิจัยและองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน ถูกนำไปใช้สนับสนุนการกำหนดนโยบาย มาตรการ และกลไกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและนวัตกรรมบนฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ พร้อมทั้งส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Print