วช. สนับสนุน มรภ.อุตรดิตถ์ คิดค้นเครื่องผ่าไม้ไผ่และเครื่องจักตอกแบบเลาะข้อ ทุ่นแรงและเวลาการผลิตเข่งใส่พืชผลการเกษตร

  • 24 May 2021
  • Author: Wanchaloem
  • Number of views: 1534
วช. สนับสนุน มรภ.อุตรดิตถ์ คิดค้นเครื่องผ่าไม้ไผ่และเครื่องจักตอกแบบเลาะข้อ ทุ่นแรงและเวลาการผลิตเข่งใส่พืชผลการเกษตร

                   นักวิจัย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ผลิตเครื่องผ่าไม้ไผ่และเครื่องจักตอกแบบเลาะข้อ ทุ่นแรงและเวลา สร้างรายได้เพิ่ม แก่กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักสานเข่งไม้ไผ่ จ.อุตรดิตถ์ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)   

              คณะผู้วิจัย นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ นะเที่ยง แห่งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้ออกแบบและสร้างเครื่องผ่าไม้ไผ่และเครื่องจักตอบแบบเลาะข้อ ทุ่นแรงและเวลา เพื่อลดระยะเวลาการจัดเตรียมวัตถุดิบเส้นตอกของชาวบ้านสำหรับสานเข่งไม้ไผ่ ช่วยให้ได้เส้นตอกขนาดมาตรฐาน ลดอันตรายระหว่างการทำงาน  และเพิ่มจำนวนการผลิตต่อวันให้สูงขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพและสมรรถนะเหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม้ไผ่ ในเขตพื้นที่ตำบลนานกกก  อำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีการผลิตเข่งสำหรับใส่ผลไม้และพืชผลทางการเกษตรเป็นหลัก

                   ประสิทธิภาพของเครื่องผ่าไม้ไผ่ สามารถผ่าไม้ไผ่ได้ทุกขนาดโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของความหนาและความยาวของลำไม้ไผ่ ใช้เวลาน้อยกว่าการใช้แรงงานคน อีกทั้งเครื่องจักตอกแบบเลาะข้อมีประสิทธิภาพในการเลาะข้อคิดเป็น 100 % ตามลำดับของขนาดที่ทำการเลาะ โดยปกติต้องใช้เวลาในการเตรียมเส้นตอกสำหรับสานเข่ง 1 ใบ เฉลี่ยระยะเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง และใช้เวลาสานอีก 2 ชั่วโมง ดังนั้นใน 1 วัน จึงสานเข่งได้เพียง 1 ใบ เท่านั้น สร้างรายได้วันละ 100 บาท ภายหลังจากใช้เครื่องจักตอกแบบเลาะข้อ พบว่าการผลิตเข่ง 1 ใบ ใช้เวลาในการเตรียมเส้นตอกเฉลี่ยเพียง 2 ชั่วโมง เท่านั้น  จึงทำให้เหลือเวลาในการสานเข่งเพิ่มมากขึ้น เป็นวันละ 3 ใบ เท่ากับมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาท คิดเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับวิธีการแบบเดิม

                   เครื่องผ่าไม้ไผ่ดังกล่าว ได้พัฒนาให้สามารถผ่าได้ตลอดความยาวของลำต้น โดยใช้หลักการดันกระแทกลำไม้ไผ่ด้วยกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2แรงม้า เพื่อดึงลวดสลิงที่ยึดติดกับหัวจับลำไม้ไผ่ที่สามารถขยายออกและหดตัวเข้า เพื่อทำการจับยึดไม้ไผ่ตั้งแต่ด้านโคนจนถึงปลายลำ และติดตั้งล้อเลื่อนให้วางอยู่บนรางสำหรับประคองหัวจับขณะที่เลื่อนไป-มา เพื่อดันให้ลำไม้ไผ่พุ่งเข้าไปกระแทกที่หัวผ่า ส่วนเครื่องจักตอบแบบเลาะข้อ ได้ทำการออกแบบและพัฒนาชุดเลาะข้อไม้ไผ่เพื่อติดตั้งเพิ่มเติมเข้าไปในเครื่องจักตอกแบบ 6 ลูกกลิ้งที่มีใช้งานอยู่ทั่วไป เพื่อทำการเลาะข้อไม้ไผ่ที่ติดอยู่ที่ผิวด้านในของไม้ไผ่ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการจักตอกให้เป็นแผ่นบางต่อไป โดยไม่ต้องทำการใช้มีดในการเลาะข้อไม้ไผ่ก่อนป้อนเข้าเครื่องจักตอก

                   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ นะเที่ยง เปิดเผยว่า ได้วางแนวทางการขยายผลเทคโนโลยีนี้ต่อไป ยังอำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ในการบริหารจัดการการใช้เครื่องผ่าไม้ไผ่ และเครื่องจักตอบแบบเลาะข้อ ร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ในลักษณะเฟอร์นิเจอร์ หรือวัสดุมุงหลังคาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปยังจังหวัดอื่น ๆ อาทิ สุรินทร์ สระแก้ว และพิจิตร โดยการสนับสนุนทุนของ วช. โดยมีการทำงานร่วมกับ กอ.รมน. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และต่อยอดนวัตกรรมชิ้นนี้ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                   ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน โดยความร่วมมือของภาคส่วนวิจัยที่มีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ไปพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน ปราชญ์ชุมชน ปราชญ์เพื่อความมั่นคงและประชาชน ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน ผลักดันงานวิจัยให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ สร้างฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

Print