วช. สืบสานพระราชดำริ ขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ณ จังหวัดนครสวรรค์

  • 4 September 2019
  • Author: Admin4
  • Number of views: 1988
วช. สืบสานพระราชดำริ ขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ณ จังหวัดนครสวรรค์
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำนวัตกรรมจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ วช. ได้รับมอบหมายจาก ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. โดยคณะกรรมการจิตอาสาเฉพาะกิจกลุ่มงานโครงการ และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติให้ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 โดย พลตรี วีรยุทธ กวยะปาณิก เลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ภาค 3 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติกล่าวความเป็นมา และนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในปีนี้ วช. ได้จัดกิจกรรมในหลายจังหวัดตามภูมิภาค และจังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่ 7 ในการจัดกิจกรรม โดย วช. จะดำเนินการจัดกิจกรรมลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง วช. ได้ ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาลำน้ำที่พร้อมนำไปสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดำเนินชีวิตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียงและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาสาธิตวิธีการใช้เครื่อง และให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยหมักและดินปลูกจากวัชพืชและผักตบชวา ให้แก่ชุมชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อสร้างเป็นต้นแบบในการผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกต้นไม้จากวัชพืชและผักตบชวา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรและจำหน่ายเป็นการเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนด้วยนวัตกรรมที่ช่วยกำจัดวัชพืชและผักตบชวา

ชมภาพเพิ่มเติมที่: https://www.facebook.com/pg/nrctofficial/photos/?tab=album&album_id=2250174941774732&__tn__=-UC-R

Print
Tags: