วช. หนุน วว. และ มรภ.วไลยอลงกรณ์ ส่งเสริมการผลิต “ดอกไม้กินได้” พร้อมผลักดันการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้พื้นถิ่นและพรรณไม้เศรษฐกิจสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภาคใต้

  • 23 August 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 462
วช. หนุน วว. และ มรภ.วไลยอลงกรณ์ ส่งเสริมการผลิต “ดอกไม้กินได้” พร้อมผลักดันการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้พื้นถิ่นและพรรณไม้เศรษฐกิจสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภาคใต้


วันที่ 22 สิงหาคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมน์ ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค” และโครงการ “การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าไม้ดอกเขตร้อนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย” เพื่อนำองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับ มาถ่ายทอดวิธีการผลิตไม้ดอกไม้ประดับสำหรับการบริโภคอย่างปลอดภัย ตั้งแต่กระบวนการผลิตในระบบเกษตรปลอดภัย การนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มผู้ประกอบการคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ผ่านการจัดงาน“Floral Delights: Edible Flower showcase at Andaman” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม Plaza I โรงแรม Deevana Plaza Phuket จังหวัดภูเก็ต

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค” ให้แก่ วว. ในการส่งเสริมระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัย (GAP) ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น การบริโภคดอกไม้ที่สามารถรับประทานได้ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ทั้งนี้ วช. ได้คำนึกถึงผู้บริโภคที่จะนำดอกไม้ไปใช้เพื่อการบริโภคจะต้องมีมาตรฐานปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีระบบปลูกเลี้ยงที่ปลอดภัยตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ กิจกรรมภายในโครงการยังมีการพัฒนากลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกเลี้ยงให้เข้มแข็ง สร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร โดยการส่งผลผลิตสด รวมทั้งแปรรูปผลผลิตสำหรับส่งให้กับร้านอาหารและโรงแรมในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการบริโภค เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ได้ส่งเสริมและพัฒนาระบบการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ให้กับเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย ตลอดจนการขยายผลการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ไปยังพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยว เช่น ภาคใต้ (จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดอุบลราชธานี) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา และมีธุรกิจโรงแรม ที่มีการใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับในการจัดตกแต่งอาคารสถานที่ รวมทั้งมีการใช้ดอกไม้ ใบไม้ สำหรับจัดตกแต่งจานอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เครื่องหอมลูกประคบสำหรับธุรกิจสปา เป็นต้น วว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้บริโภคจึงศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค ส่งต่อกระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยวและการแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับ ให้ประสบผลสำเร็จพัฒนาศักยภาพในการผลิต การแข่งขัน ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน

นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ในนามของจังหวัดภูเก็ต ขอขอบคุณ วช. และ วว. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญจากการนำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับมามอบให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงแรม และร้านอาหารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อนำความรู้เหล่านี้ ยังก่อประโยชน์ในด้านการนำไปประดับในเมนูอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ท้องถิ่น นอกเหนือจากแค่การนำไปใช้ตกแต่งตามอาคารและสถานที่เพื่อความสวยงาม นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างโรงแรม ร้านอาหารและเกษตรกร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ สุดท้ายนี้ ในฐานะตัวแทนของจังหวัดภูเก็ต ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงแรม และร้านอาหาร ในพื้นที่อีกด้วย

การจัดงานครั้งนี้ คณะนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. นำโดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค” และ ดร.นุชรัฐ บาลลา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าไม้ดอกเขตร้อนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ประโยชน์จากดอกไม้ให้แก่ผู้ประกอบการ เกษตรกร รวมถึงผู้สนใจ ที่จะนำความรู้ไปต่อยอดสำหรับกิจการของตนเอง รวมทั้งได้นำผลงานวิจัยที่มีการรวบรวมและประเมินศักยภาพกระทือและดาหลาต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการแสดงการจัดดอกไม้ และการสาธิตการใช้ดอกไม้ในการทำอาหารว่างและตกแต่งบนโต๊ะอาหาร รวมทั้งการรังสรรค์เมนูอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) ด้วยวัตถุดิบหลักจากดอกไม้กินได้ จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ตลอดจนร่วมจัดแสดงพรรณไม้พื้นถิ่นและพรรณไม้เศรษฐกิจ อาทิ ดอกดาหลา กระทือ เบญจมาศ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานที่จะได้ผู้เข้าร่วมงานจะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้และสนับสนุนธุรกิจของตนเอง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตต่อไป
Print
Tags: