วช. หนุนทุนวิจัย ยกระดับสมุนไพรไทยอบแห้ง ม.ศิลปากร ด้วยพาราโบลาโดม สร้างรายได้บ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี

วช. หนุนทุนวิจัย ยกระดับสมุนไพรไทยอบแห้ง ม.ศิลปากร ด้วยพาราโบลาโดม  สร้างรายได้บ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี

ชุมชนสมุนไพรบ้านดงบัง ต. ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เป็นชุมชนเล็ก ๆ เพียง 15 ครัวเรือน ที่ทำการผลิตสมุนไพรไทยจุลินทรีย์เพื่อจำหน่ายมาแล้วกว่า 20 ปี อาทิ ฟ้าทลายโจร หญ้าปักกิ่ง เพชรสังฆาต อัญชัน ว่านนางคำ ว่านหางจระเข้  และกวาวเครือขาว เป็นต้น เป็นแหล่งวัตถุดิบสมุนไพรชั้นดี ให้กับ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ราว 14 ตันต่อปี นอกจากนี้ทางชุมชนได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ BDB (บ้านดงบัง) อีกด้วย

ดร.ศราวุธ ภู่ไพจิตร์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการเพิ่มสมรรถนะการผลิตสมุนไพรอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม กล่าวว่า ได้ดำเนินการติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดมให้กับชุมชนสมุนไพรบ้านดงบัง โดยทดลองกับการอบแห้งมะระขี้นก ที่กำลังเป็นที่ต้องการจำนวนมากของตลาดในขณะนั้น ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และความช่วยเหลือ จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในแง่ของการร่วมประสานงานกับพื้นที่และทำความเข้าใจกับชุมชน

จากเดิม ที่เกษตรกรชุมชนบ้านดงบังทำการตากแห้งสมุนไพร ประเภทใบและดอก ในอาคารคล้ายโกดังขนาดใหญ่ หลังคาโปร่งแสง โดยวางบนตะแกรงเพื่อให้แห้ง และนำไปอบในตู้อบลมร้อนที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงก่อนบรรจุ แต่กรณีของมะระขี้นก จะใช้เพียงการอบในตู้อบลมร้อน ต่อเนื่อง 7-8 ชั่วโมง เนื่องจากมีชิ้นที่หนากว่าสมุนไพรชนิดอื่น นักวิจัยจึงปรับมาใช้การอบลมร้อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนนำเข้าอบในพาราโบลาโดมต่ออีก 2-3 วัน (ขึ้นอยู่กับปริมาณของแสงแดด) เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงลง ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความชื้นเพียง 11% ค่าแอคทิวิตี้ของน้ำอยู่ที่ 0.44 และปริมาณเชื้อจุลินทรีย์อยู่ที่ 2.7x102 CFU/g ตรงตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของชุมชน

โดยในช่วงเดือนสุดท้ายของโครงการ พบว่าชุมชนได้ทำการอบแห้งมะระขี้นกจำนวน 1.8 ตัน ใน 8 รอบการผลิต ได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอบแห้งสำหรับส่งผลิตยาสมุนไพร จำนวน 100 กิโลกรัม สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนประมาณ 58,000 บาท และลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 4,700 บาท นอกจากนี้ ชุมชนยังมีแนวคิดที่จะนำระบบอบแห้งพาราโบลาโดมนี้ ไปใช้อบแห้งผลไม้และแปรรูปไว้รองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคต โดยได้รับการอบรมจากทีมนักวิจัย ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกด้วย นวัตกรรมนี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับกระบวนการผลิตสมุนไพรอบแห้งให้มีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนสมุนไพรบ้านดงบัง ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน จนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่น ๆ  ได้  อีกทั้งยังเป็นส่วน

ดร.ศราวุธ เล่าต่อว่า ได้ทำการสำรวจตำแหน่งการวางพื้นที่ระบบอบแห้ง ขนาด 8 x 12.4 ตารางเมตร ในพื้นที่โล่งรับแสงแดด โดยทางชุมชนยินดีรื้อถอนอาคารเดิม และปรับพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้าง ระบบอบแห้งที่ติดตั้งอาศัยหลักการ เรือนกระจก (greenhouse) อ้างอิงแบบและคุณลักษณะวัสดุตามแบบมาตรฐาน ขนาด พพ.2 ของกรมพัฒนาพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน หรือที่รู้จักในนาม พาราโบลาโดม ซึ่งจะมีโครงสร้างรูปพาราโบลา ปิดคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนตเป็นหลังคา ที่มีการรับประกันการใช้งาน 10 ปี เมื่อรังสีดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนต ไปยังผลิตภัณฑ์ในชั้นวาง บางส่วนจะตกกระทบพื้นของระบบอบแห้ง รังสีอินฟราเรดในแสงแดดและที่สะท้อนออกมาจากพื้นจะสะท้อนภายในระบบ เนื่องจากไม่สามารถผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนตออกไปได้ ทำให้ภายในระบบอบแห้งกักเก็บความร้อนและมีอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำในผลิตภัณฑ์ที่ระเหยออกมา จะถูกพัดลมดูดอากาศด้านหลังของระบบอบแห้งดูดออกไปภายนอก ในขณะที่อากาศจากภายนอกจะไหลเข้ามาแทนที่ทางช่องอากาศด้านหน้าระบบ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งเร็วกว่าการตากแดดตามธรรมชาติ ในโครงการนี้ชุมชนยังได้รับการอบรมการใช้งานและการดูแลรักษาระบบภายหลังการติดตั้ง จากทีมนักวิจัยผู้พัฒนาและออกแบบจากภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วช. ได้จับมือกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการบูรณาการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมในพื้นที่ของ กอ.รมน. อันเป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
Print