วช. เข้าร่วมการประชุม DBAR 2024 ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

วช. เข้าร่วมการประชุม DBAR 2024 ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน















ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบหมายให้ ดร. มณทิพย์ ศรีรัตนา ผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กรุงเทพฯ (DBAR-ICoE-Bangkok) ภายใต้การดำเนินงานของ วช. เข้าร่วมการประชุม The 8th Digital Belt and Road Conference (DBAR 2024) พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ วช. เมื่อวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2567 ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

การประชุม DBAR 2024 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เส้นทางดิจิทัลสู่ความยั่งยืนระดับโลก (Digital Routes towards Global Sustainability)” ณ Center for International Academic Exchange, Nanjing University (Suzhou Campus) โดยได้รับเกียรติจาก Prof. Guo Huadong, DBAR Chair และ Director General of International Research Center of Big Data for Sustainable Development Goals เป็นประธานเปิดการประชุมฯ โดยกล่าวว่า DBAR เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศตามแนว "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road)" และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ ในขณะที่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 เข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญ ให้มีโอกาสมากขึ้นสำหรับความร่วมมือในการร่วมกันบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแบ่งปันประสบการณ์และแสวงหาโอกาสความร่วมมือในวงกว้างเพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี Prof. Suo Wenbin, Vice President of Nanjing University, ดร. มณทิพย์ ศรีรัตนา ผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กรุงเทพฯ วช., Dr. Simon Hodson, Executive Director, Committee on Data of the International Science Council และ Prof. Markku Kulmala Academician, Academy of Finland ร่วมเปิดการประชุมฯ โดยมีนักวิจัยและผู้บริหาร จาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมฯ
นอกจากนี้ มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Digital Technology Promotes the Belt and Road" ของ Prof. Guo Huadong, Prof. Gretchen Kalonji, Special Advisor, International Research Center of Big Data for Sustainable Development Goals, Prof. Xiaomin Fang, Academician, Institute of Tibetan Plateau Research, Chinese Academy of Sciences (CAS) และ Prof. Massimo Menenti, DBAR SC, Delft University of Technology, Netherlands เกี่ยวกับ “โครงการริเริ่ม 'การพัฒนาที่ยั่งยืน'” “การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน” “การยกระดับที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตและวิวัฒนาการร่วมกับลักษณะทางธรณีวิทยา” “สภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมทางนิเวศ และชีววิทยาของภูมิภาค 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road)'” และ “องค์ความรู้ในการทำงานร่วมกันของ DBAR ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของวิทยาศาสตร์ดิจิทัล” ตามลำดับ
อนึ่ง ศูนย์ DBAR- ICoE กรุงเทพฯ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง วช. กับ The Digital Belt and Road (DBAR) Program สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือ สร้างเครือข่าย และทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค ให้บรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDGs) ในประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ทำความเข้าใจและสื่อสารปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำหรับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความท้าทายและความสำเร็จในการใช้ Big Earth Data โดยศูนย์ DBAR- ICoE กรุงเทพฯ ณ วช. เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศนานาชาติแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในจำนวน 8 ศูนย์ทั่วโลก ที่ได้มีการจัดตั้งในประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย ฟินแลนด์ อิตาลี ปากีสถาน โมร็อกโก รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และแซมเบีย
Print