วช.จัดเสวนา“CEO Forum for Net Zero : Move forward Challenges and Directions for Net Zero” ท้าทายทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

  • 10 August 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 582
วช.จัดเสวนา“CEO Forum for Net Zero : Move forward Challenges and Directions for Net Zero” ท้าทายทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

วันที่ 10 สิงหาคม 2566 วันที่สี่ของมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเสวนา“CEO Forum for Net Zero : Move forward Challenges and Directions for Net Zero” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TBCSD) และ ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก คุณนฤพรรณ สุธรรมเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานชมรมไฮโดรเจน ประเทศไทย คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (DOW) และ คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย คุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ พิธีกรรายการและผู้ประกาศข่าวทางช่อง 3 ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ วช. เป็นผู้นำการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก 1. การบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 2. การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 3. การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรมสำคัญของประเทศ 4. การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย 5. การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ 6. การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัย และนวัตกรรม 7. การให้รางวัลประกาศเกียรติคุณและยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ส่วนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน) กับแผนระดับประเทศนั้น แผนระดับประเทศแบ่งเป็น 3 ระดับ แผนระดับ 1 ยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับ 2 ประกอบด้วย แผนแม่บท แผนปฏิรูปฯ แผนแม่บทโควิด19 ร่างกรอบฐาน13 และแผนระดับ 3 ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการและแผนด้าน ววน. ภายใต้แผนด้าน อววน. กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566-2570 อว. สอวช. สกสว. แบ่งเป็นแผนด้านการอุดมฯ และแผนด้าน ววน. มาที่แผนปฏิบัติการ วช. แบ่งเป็นแผนปฏิบัติการ วช. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และกรอบการวิจัย วช.ปี พ.ศ.2567 โดย แผนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566-2570 แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคตโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบ ก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม โดยเป้าหมายระดับประเทศปี 2030 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ปี 2050 เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ปี 2065 เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emission) และเป้าหมาย ววน.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(ลดลงร้อยละ 10) โดยผลงานวิจัยและนวัตกรรมประเด็น"คาร์บอนเครดิตในภาคป่าไม้" การสร้างแพลตฟอร์มการประเมินการกักเก็บคาร์บอนอย่างแม่นยำ เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศปัญญาประดิษฐ์ ประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าสงวนชีวมณฑลสะแกราช โมเดลการปลดปล่อยและกักเก็บคาร์บอนของพืช วิธีการคำนวณการกับเก็บมวลชีวภาพเหนือดิน สมการอัลโลเมตรี Remote sensing, Eddy covariance , สร้าง AI ผลงานวิจัยและพัฒนาการประเด็น "Green Carbon" การประเมินศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพรรณไม้มีค่าของประเทศไทย ผลงานวิจัยและนวัตกรรมประเด็น "Blue Carbon" ต้นแบบแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงคาร์บอน ผลงานวิจัยและนวัตกรรมประเด็น"กระบวนการผลิตที่ลด CO2" ตัวเร่งปฏิกิริยาจากของเสียอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ชีวมวล ลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหิน การเปลี่ยนเถ่าหนักจากถ่านหินให้กลายเป็นวัสดุเพิ่มมูลค่า สำหรับการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนก๊าซไอเสียจากโรงไฟฟ้าเป็นสารเคมีและวัสดุมากมูลค่าเพื่อมุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมประเด็น"พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" วช.ร่วมกับ บางจากคอร์ปอเรชั่น บีบีจีไอ มทร.อีสานและกองทัพอากาศ ร่วมกันผลักดันขยายผล Bio-Jet จากฟูเซลแอลกอฮอล์ และแอลกอฮอล์ การเพิ่มสมรรถนะชุดกังหันน้ำคีรีวงสำหรับผลิตไฟฟ้าในชนบท

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TBCSD) และ ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า สถานการณ์ทรัพยากรโลก Earth Overshoot Day เมื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัดที่สามารถสร้างใหม่ได้ ปัจจุบันมีการใช้เทียบเท่ากับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลก 1.7 ใบ "TBCSD และ TEI พร้อมภาคีเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับมาตรฐาน ขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ 2050 และ Net Zero GHG Emission ในปี ค.ศ. 2065 ที่จะเป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและได้รับการยอมรับจากสากล"

คุณนฤพรรณ สุธรรมเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "มุมมองในเรื่อง Move Forward ที่จะให้เกิด NET ZERO จะเห็นได้ว่าเราจะเจอกันแน่นอนคือในปัจจุบันเทคโนโลยีต้นทุนยังสูงอยู่ เทคโนโลยีที่พยายามจะพัฒนาการวิจัยต้นทุนเรายังเข้าไม่ถึง เราต้องไม่ขาดแคลนการใช้ เพราะฉะนั้นมองว่าในการสนับสนุนในเรื่องนี้อาจจะต้องการอะไรนิดนึง แต่เราอยากให้เร่งให้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีต้นทุนตรงนี้ ควรเริ่มต้นจากตัวเองทำในสิ่งที่ธุรกิจมีความถนัด inprocess แล้วก็ช่วยกันเป็นกลุ่มสร้าง Ecosystem เป็นพันธมิตรกันอย่างวันนี้ ได้รับไอเดียดีๆและมองเห็นความเชื่อมโยง ไปในแนวเดียวกัน"

คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานชมรมไฮโดรเจน ประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรธุรกิจก็ควรมี Roadmap ของตนเองที่สอดคล้องกับ National Roadmap ของภาครัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ทั้ง Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero ในปี ค.ศ.2065 โดยหัวใจสำคัญก็คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดคาร์บอน หรือการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำด้วยต้นทุนต่ำ เพื่อสังคมไทยที่ยั่งยืน

คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (DOW) กล่าวว่า Climate Change และปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว นำมาซึ่งความท้าทายและโอกาส เรามีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือรอให้ธุรกิจถูก Disrupt จากความท้าทายนั้นหรือลุกขึ้นมาคว้าโอกาส Disrupt ตัวเองก่อน สำหรับ DOW เราเลือกทางที่สอง โดยมองปัญหาเป็นโอกาส ที่เราจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนซึ่งจะร่วมมือกับลูกค้าและ Partner มุ่งสู่ Net Zero พร้อม ๆ ไปกับการมองโอกาสทางธุรกิจด้วย ความเชี่ยวชาญทางวัสดุศาสตร์และความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายของโลกไปด้วยกัน

คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราต้องเริ่มทำวันนี้ โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนจึงจะสร้าง impact ในวงกว้างได้ เปลี่ยนเร็วไปก็ไม่ได้ ช้าไปก็ไม่ดี จึงต้องวางแผนให้สมดุล เหมาะสมเพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเปลี่ยนวิธีคิดวิธีปฏิบัติใหม่ทั้งหมด โดยอาศัยทั้งระยะเวลา เงินทุน และเทคโนโลยี จึงจะทำให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง

ในตอนท้าย ดร.วิภารัตน์ กล่าว "วช. และเครือข่าย จะสร้างสรรค์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อร่วมกำหนดเข็มทิศนำทางประเทศสู่ Net Zero บนพื้นฐานเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน"

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่สร้างไทยยั่งยืน
Print
Tags: