วช.หนุนศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวพระราชดำริการเกษตรแบบผสมผสาน

  • 31 March 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 3781
วช.หนุนศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวพระราชดำริการเกษตรแบบผสมผสาน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ให้การสนับสนุนโครงการศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวพระราชดำริการเกษตรแบบผสมผสาน อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นการนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทำกินแบบครบวงจร จัดตั้งศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรง พัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรง สร้างฐานข้อมูลศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเสมือนจริงผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบบนฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัดสงขลา นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.เป็นองค์กรของรัฐ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จำเป็นต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างช่องทางในการหารายได้จากหลายผลิตภัณฑ์ อย่างพื้นที่ในอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เกษตรกรได้จัดสรรพื้นที่สวนยาง เพื่อการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชสมุนไพร และการเลี้ยงชันโรง ส่งผลให้สามารถเก็บผลผลิตจากชันโรงออกจำหน่าย สามารถชดเชยระดับราคาน้ำยางพาราที่ลดต่ำลง สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรแบบผสมผสานอีกด้วย
ดร.ฉัตรธิดา หยูคง อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์( ฝ่ายมัธยมศึกษา )คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ทีมงานวิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกษตรทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยในด้านการเกษตร ซึ่งพื้นที่ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา นับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีเขียว เนื่องด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรสวนผลไม้ และสวนยางพาราตั้งอยู่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาและคลองบางกล่ำ ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากโรงงานอุตสาหกรรมและมลพิษ จึงถือเป็นต้นทุนทางทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชนที่สำคัญ และสัมพันธ์โดยตรงต่อคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรและน้ำผึ้งชันโรง สามารถขับเคลื่อนการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรสามารถจัดสรรพื้นที่สวนยาง เพื่อการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชสมุนไพร และการเลี้ยงชันโรงออกจำหน่ายชดเชยรายได้ในช่วงราคายางหรือราคาพืชผลทางการเกษตรอื่นๆตกต่ำ
อาจารย์ฉัตรธิดา กล่าวว่า คณะผู้วิจัยและทีมงานจึงได้นำเสนอโครงการเพื่อจัดการความรู้การเลี้ยงชันโรงตามแนวพระราชดำริการเกษตรแบบผสมผสาน และสร้างศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรง ลักษณะห้องเรียนมีชีวิตในพื้นที่ตำบลบางกล่ำ ขยายผลเป็นพื้นที่ต้นแบบคนเลี้ยงชันโรงในพื้นที่อำเภอรัตภูมิ อำเภอสะเดา และอำเภอนาทวี พัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรงในพื้นที่ตำบลบางกล่ำ และ สร้างฐานข้อมูลศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเสมือนจริงผ่านแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้พื้นที่ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลาได้มีความพร้อมในด้านคน โดยคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือไม่ใช่สารเคมีในพื้นที่การเกษตร 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะหากมีการใช้สารเคมีจะส่งผลให้ชันโรงจะไม่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น และความพร้อมของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ ที่จะเรียนรู้ พัฒนาตนอยู่เสมอ ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอบรมเพื่อพัฒนาการเลี้ยงชันโรง หรือ การถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรพื้นที่อื่น ๆ เป็นต้น จากความพร้อมทั้งทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล นับเป็นจุดเด่นที่ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำเกิดการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการการขยายผลต่อยอดจากการเลี้ยงชันโรงในหลาย ๆ ด้านอาทิ การผลิตกล่องเลี้ยงชันโรง เพื่อจำหน่ายแก่สมาชิกภายในวิสาหกิจชุมชน และคนภายนอก การจำหน่ายขี้ชัน สิ่งที่เหลือจากการกรองน้ำผึ้งชันโรง และมีประโยชน์ต่อการดึงดูดชันโรงเข้าสู่กล่องเลี้ยงใหม่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำผึ้งชันโรง น้ำเถาคันผสมชันโรง สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพู โลชั่น ลิปบาล์ม ลิปสติก ครีมบำรุงใต้ตา และตะลิงปลิงอบแห้งผสมชันโรง รวมถึงการสร้างศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงในชุมชน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้กระบวนการเลี้ยงชันโรงผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้าเยี่ยมชมหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
•​คุณคมคาย เพชรมุณี ประธานวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ
เบอร์โทรศัพท์ 061-2532874
•​สวนลุงรมย์ ศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรง เบอร์โทรศัพท์ 086-6937173
•​สวนพี่โอ ศูนย์เรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากชันโรง
เบอร์โทรศัพท์ 089-1978192
Print
Tags: