สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมการสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติฯ เรื่อง "การเปิดตัวของหอจดหมายเหตุ ต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์ ครั้งที่ 6"

  • 4 December 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 321
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมการสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติฯ เรื่อง "การเปิดตัวของหอจดหมายเหตุ ต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์ ครั้งที่ 6"

เมื่อวันพฤหัสที่ 23 พฤศจิกายน 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงเปิดงานสัมมนาทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติ "พลเอกหญิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดอกเตอร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 68 พรรษา 2 เมษายน 2566" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และแนะนำ "หอจดหมายเหตุต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์" แหล่งข้อมูลค้นคว้า และทบทวนองค์ความรู้ของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ แก่นักวิชาการ นิสิต นักศึกษาและผู้สนใจ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการนำเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยจากหอจดหมายเหตุต่างประเทศ มาจัดเก็บในไทย
โอกาสนี้ ทรงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ย่ำแดนมังกร : พัฒนาการจีนใหม่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ จากมุมมองของผู้ที่เคยเยือนจีนมากกว่า 50 ครั้ง" ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนกว่า 50 ครั้ง การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของจีนภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ พระราชกรณียกิจที่ทรงสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานฝ่ายไทยและจีน, การพระราชทานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในจีนและไทย นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ "รัฐมิตราภรณ์" เครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมอบให้ชาวต่างชาติที่สนับสนุนมิตรภาพระหว่างประเทศของตนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 สำหรับหนังสือ "ย่ำแดนมังกร" เป็นพระราชนิพนธ์เล่มแรก ที่กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2524 และทรงกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศต่าง ๆ ทรงถ่ายและเก็บเอกสารกลับมา ล้วนเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์
จากนั้น ทรงร่วมการสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติฯ เรื่อง "การเปิดตัวของหอจดหมายเหตุ ต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์ ครั้งที่ 6" ซึ่งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดขึ้น มีวิทยากรจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงภาพรวมและลักษณะเด่นของเอกสารในระบบของหอจดหมายเหตุต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์ การพัฒนาระบบข้อมูล การลงรายการเอกสารในระบบ และวิธีการค้นคว้าเอกสาร
หอจดหมายเหตุฯ แห่งนี้ เป็นโครงการในพระราชดำริ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ต่อมาได้รับพระราชทานนามใหม่เป็น "หอจดหมายเหตุต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์" เมื่อปี 2565 เพื่อรวบรวมและจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวกับประเทศไทย จากหอจดหมายเหตุของต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี และจีน เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยของอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และทรงมีพระราชประสงค์เปิดและพัฒนาบริการให้นักวิชาการ อาจารย์ นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมถึงผู้สนใจ สามารถค้นอ่านและนำเอกสารไปใช้ได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันได้รวบรวม และจัดเก็บข้อมูลจากเอกสารและแปลเป็นเอกสารดิจิทัล และนำมาจัดหมวดหมู่บรรจุลงใน "หอจดหมายเหตุต่างประเทศ ทูลกระหม่อมอาจารย์" กว่า 300,000 แผ่น และในปี 2566 ได้จัดทำคำบรรยายชุดรับข้อมูลตามมาตรฐานสากลมากกว่า 6,000 รายการ ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ทรงคุณค่าทางปัญญา และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่อประเทศ และคนไทยรุ่นสู่รุ่นสืบไป
Print
Tags: