เครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมประยุกต์จากภูมิปัญญา

เครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมประยุกต์จากภูมิปัญญา

ทำมาหากิน : เครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมประยุกต์จากภูมิปัญญา : โดย…สุรัตน์ อัตตะ

                      ความต้องการเส้นไหมเพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์นับวันยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านการสาวไหมที่ใช้แรงคนในการผลิต จึงไม่ทันกับความต้องการ และยังส่งผลทำให้วงจรไหมกลายเป็นดักแด้ผีเสื้อภายในเวลาอันรวดเร็ว จนไม่สามารถนำรังไหมมาใช้ประโยชน์ได้อีก ด้วยเหตุนี้ทำให้ทีมนักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นำโดย รศ.ดร.ชูชาติ พยอม และดร.ศุภัชย แก้วจันทร์ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องสาวไหมโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแหง่ชาติ (วช.) จำนวน 3 แสนบาท มาทดลองประดิษฐ์เครื่องสาวไหมใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทดแทนแรงงานคนในทุกขั้นตอนการผลิต
                      อาจารย์เอกราช นาคนวล หนึ่งในทีมวิจัยเครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์ให้ข้อมูลระหว่างนำนวัตกรรมเครื่องสาวไหมพลังานแสงอาทิตย์มาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาคประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยระบุว่าเดิมทีชาวบ้านสาวไหมโดยใช้นวัตกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งได้ปริมาณการผลิตไม่มากนัก เฉลี่ย 1-2 กระด้งต่อวัน และไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงวงจรของตัวไหมที่จะกลายเป็นดักแด้ผีเสื้อ  ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มลดจำนวนการเลี้ยงไหม เนื่องจากไม่คุ้มค่าในการลงทุน ทั้งที่ จ.สุรินทร์ ถือเป็นแหล่งผลิตเส้นไหมและผลิตภัณฑ์จากไหมที่สำคัญของประเทศ จึงทำให้ทีมนักวิจัยพยายามคิดค้นนวัตกรรมการสาวไหมโดยใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย การทำงานที่ไม่สลับซับซ้อนนักและมีขั้นตอนการผลิตไม่แตกต่างไปจากวิถีเดิมๆ ของชาวบ้านมากนัก
                      นักวิจัยคนเดิมเปิดเผยต่อว่า สำหรับจุดเด่นของนวัตกรรมชิ้นนี้สามารถสาวได้รอบที่สม่ำเสมอและปรับความเร็วรอบได้ตามความเหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับไหมสายพันธุ์ต่างๆ ขณะที่สาวไหมเครื่องก็จะบิดเกลียวเส้นไหมไปในตัว ทำให้เส้นไหมมีความเหนียวและได้ขนาดที่เท่ากันตลอดความยาวของเส้นไหม โดยเครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์นี้สามารถสาวไหมพื้นที่ได้หลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์นางลาย พันธุ์เหลืองสุรินทร์ ยกว้นไหมอีรี่ เนื่องจากยังมีปัญหาอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้เส้นไหมจะขาดบ่อยในขณะที่สาว
                      “เครื่องนี้ได้ต่อยอดมาจากของเดิมเป็นเครื่องสาวไหมไฟฟ้า แต่ชาวบ้านไม่ชอบกลัวอันตราย ก็เลยพัฒนามาเป็นเครื่องสาวไหมใช้มอเตอร์ดีซี เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จุดเด่นของมันก็คือควบคุมรอบได้และปริมาณการสาวมากกว่าชาวบ้านถึง 8 เท่า ปกติชาวบ้านสาวได้ 1-2 กระด้งต่อวัน ถ้าใช้กับเครื่องนี้จะได้ปริมาณเพิ่มขึ้น 8-10 เท่าต่อวัน ที่สำคัญพลังงานที่ใช้กรณีเราชาร์จแบตเตอรี่เต็มสามารถใช้ได้นานถึง 16 ชั่วโมง”
                      อาจารย์เอกราชยังอธิบายถึงขั้นตอนการใช้งานของเครื่อง โดยแค่เปิดสวิตช์กุญแจ จากนั้นก็ปรับความเร็วของรอกจะให้หมุนช้าหรือเร็ว ส่วนขั้นตอนการผลิตนั้น เริ่มจากนำรังไหมมาต้มเพื่อให้กาวแตกตัวแล้วรอกขึ้นมาสาวได้ทันทีโดยอัตโนมัติ ซึ่งแบบเดิมจะใช้มือในการสาว ขณะเดียวกันเราก็จะนั่งคอยดู กวนรังไหมในหม้อต้มเพื่อให้เส้นไหมขึ้นรอกอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งช่วยลดแรงงานคนและสามารถทำได้ในปริมาณที่มาก ภายในเวลาอันจำกัด
                      “ส่วนประกอบหลักก็ไม่มีะไรมาก มีชุดแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่และตัวมอเตอร์ดีซี และคูเลย์กลไกภายใน ส่วนเครื่องกรอก็ประยุกต์มาจากหลักการเดิมของชาวบ้าน คือถอดแบบเครื่องสาวไหมของชาวบ้านมาใช้เกือบทั้งหมด” นักวิจัยคนเดิม กล่าว และย้ำว่า สำหรับต้นทุนการผลิตเครื่องตัวนี้อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นบาท และเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน หลังนำไปทดลองใช้งานในหมู่บ้านผลิตเส้นไหมหลายแห่งใน จ.สุรินทร์ ในช่วงที่ผ่านมา
                      นับเป็นอีกนวัตกรรมที่ดัดแปลงมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพ ต้นทุนการผลิตไม่สูงนัก น่าจะเป็นอีกทางเลือกให้แก่เกษตรกรที่ผลิตเส้นไหมได้เป็นอย่างดี
ijbkja9aedc7cccaf6acb
http://www.komchadluek.net/detail/20160315/224092.html

No views yet

Print